บรรจุภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยในระบบสายโซ่อุปทาน

 

ภาพที่1 a) สติ๊กเกอร์ CopperCleanTM b) ฟิล์มพอลิเอทธิลีน COPPERplus c) กล่องกระดาษลูกฟูกที่มีการเคลือบสาร Touchguard® (อ้างอิง: https://copperclean.com, https://copperplusfilm.com, https://www.dssmith.com)

       ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสาธารณสุขที่บีบให้ผู้คนต้องดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่การถ่ายโอนหมุนเวียนของสินค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ส่งผลให้วิถีการดำเนินงานในระบบสายโซ่อุปทานทั่วโลกต้องถูกประเมินอีกครั้ง อนาคตจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับผลของการจัดการและควบคุมสถานการณ์ในปัจจุบัน

           บรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขนส่งและปกป้องสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้เข้ามามีบทบาทชัดเจนในยุค New Normal การทำให้ผู้รับสินค้าหรือผู้ที่ทำงานในโซ่อุปทานปลอดภัยจากการสัมผัสวัสดุ บรรจุภัณฑ์ และสินค้าที่ปนเปื้อน เป็นสิ่งท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจอย่างเร่งด่วน ในขณะที่บรรจุภัณฑ์ยังคงต้องมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องรักษาคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ หรือสินค้าอาหารที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงทั่วโลก

          นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus disease 2019 หรือ COVID-19 หรือ SARS-CoV-2) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เป็นประเด็นระหว่างประเทศ เป็นผลให้ทุกมิติของการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยต้องปรับตัวเข้าสู่โหมดการใช้ชีวิตแบบ “ความปกติรูปแบบใหม่” หรือ “New Normal” ในขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องทำงานเพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขเพื่อทำให้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงผู้ที่ออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์เองก็ต้อง เตรียมการณ์และปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากมีการสำรวจพบว่าจำนวนคำสั่งซื้ออาหารและสินค้าทั่วโลกลดลง เพราะผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนข้ามของเชื้อ SARS-CoV-2 บนพื้นผิวของวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Li et al., 2020) และความกลัวนี้อาจขยายไปถึงการขนส่งทั่วโลกเช่นกัน ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีการรายงานกรณีจริงที่เกี่ยวกับการแพร่เชื้อ COVID-19 ผ่านพื้นผิวของบรรจุภัณฑ์ได้ แต่ประเด็นดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในแวดวงสาธารณสุข โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ [FAO] และองค์การอนามัยโลก [WHO] ได้เสนอว่าการสัมผัสบรรจุภัณฑ์อาหารหรือภาชนะที่ปนเปื้อนเชื้อ SARS-CoV-2 มีโอกาสส่งเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผ่านทางปาก จมูก หรือตาได้ (FAO & WHO, 2020) เนื่องจากเชื้อดังกล่าวมีโอกาสดำรงชีวิตอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้เป็นระยะเวลานาน เช่น ดำรงอยู่บนกล่องกระดาษลูกฟูก เช่น กล่องไปรษณีย์ได้นาน 24 ชั่วโมง หรือบนพื้นผิวพลาสติกได้นานมากถึง 72 ชั่วโมงหรือประมาณ 3 วัน (Van Doremalen et al., 2020) ในขณะที่รายงานทางการแพทย์บ่งชี้ว่าทองแดงเป็นโลหะชนิดเดียวที่เชื้อไวรัสจะมีชีวิตอยู่ได้สั้นที่สุด คือประมาณ 20 นาที - 4 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับปริมาณสารทองแดง) (Corpet, 2021) จากสถานการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้แวดวงการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องตื่นตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่จะลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อของผู้บริโภค

        ทีมนักวิจัยจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย West Texas A&M เมืองแคนยอน รัฐเท็กซัส ได้พัฒนาสติ๊กเกอร์ (sticker) ที่มีส่วนประกอบของทองแดง (ภาพที่ 1a) โดยการวิจัยรายงานผลว่า Copper CleanTM สติ๊กเกอร์ทองแดงมีคุณสมบัติยับยั้งและทำลายเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสได้ สามารถนำไปติดบนพื้นผิววัสดุได้หลากหลายเพื่อช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ถึงแม้ผลการศึกษาจะแสดงผลที่ดีมาก แต่ทีมวิจัยก็ยังกังวลว่าสติ๊กเกอร์ดังกล่าว อาจจะยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาใรระดับโลกได้ (Marks, 2020) เช่นเดียวกับ COPPERplus แผ่นฟิล์มพลาสติกพอลิเอทธิลีนที่มีส่วนผสมของทองแดงซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทในประเทศเกาหลีใต้ (ภาพที่ 1b) และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US-FDA) ว่ามีความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคจากการสัมผัสได้ จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับร้านอาหารเพื่อการห่อหุ้มโต๊ะ ถาดอาหาร หรือเมนูรายการอาหารที่มีลูกค้าสัมผัสบ่อย

 รายงานจาก Data Bridge Market Research แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมาในปี 2020 ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษลูกฟูกทั่วโลกเกิดการชะลอตัว เนื่องจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบในอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษลูกฟูกในภาคอุตสาหกรรมลดลงตามมา แต่ในทางตรงข้าม กลับพบว่าการที่ผู้บริโภคไม่สามารถออกไปจับจ่ายซื้อของได้ตามปกติ ทำให้การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) หรือการซื้อของออนไลน์ เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษลูกฟูกยังสามารถประคับประคองไว้ได้ (Data Bridge Market Research, 2020; Overstreet, 2021) เพื่อขจัดความกังวลใจของผู้รับสินค้าผ่านระบบไปรษณีย์ บริษัท DS Smith ผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกที่มีชื่อเสียงของยุโรป (หลังจากการเข้าซื้อกิจการต่อจาก Grupo Lantero ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกที่มีชื่อเสียงในประเทศสเปน) ได้ทำการพัฒนาและจดสิทธิ์บัตรเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Touchguard® ซึ่งเป็นสารเคลือบที่สามารถพ่นหรือทาลงบนบรรจุภัณฑ์สำหรับกล่องไปรษณีย์ (ภาพที่ 1c) กล่องสินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์ทุติยภูมิ (secondary pack) หรือแม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์สำหรับการตั้งแสดงสินค้า (shelf-ready pack) ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่มีรานงานผลว่า Touchguard® สามารถทำลายเชื้อ SARS-CoV-2 ได้อย่างชัดเจน แต่ผลการวิจัยที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่า Touchguard® มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้หลายชนิด รวมถึงไวรัสในตระกูลเดียวกับ SARS-CoV-2 (DS Smith, 2020)